วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ไอ้ตัวแท่งสี่เหลี่ยม นี่มันคืออะไร (ECG -6)

                เวลาทำ ECG ขึ้นมานั้น จะเห็นแท่งสี่เหลี่ยม   อยู่ตลอดในแผ่น EKG บางครั้งจะอยู่ที่จุดตั้งต้นของการ run ECG หรือบางครั้งก็อยู่ที่จุดสิ้นสุดของการ run ECG ซึ่งบางคนจะคิดว่าเป็นตัวเริ่มต้น ECG หรือตัวสิ้นสุด ECG แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น
ตัว calibrator
                แท่งสี่เหลี่ยมนี่ความจริงแล้วเป็นตัว calibrator ไว้สำหรับ calibrate การ run กระดาษ ECG ว่าเป็นอย่างไร โดยตัว calibrator จะมีการเขียนแท่งนี้อยู่ที่ 0.2 วินาที ซึ่งถ้ากระดาษวิ่งด้วยความเร็ว 25 mm/sec ก็จะมีความกว้างของ calibrator อยู่ที่ 0.2*25 = 5 มม. (หรือ 5 ช่องเล็กของกระดาษนั่นเอง)  แต่ถ้ากระดาษวิ่งด้วยความเร็ว 50 mm/sec จะทำให้ตัว calibrator มีความกว้างอยู่ที่ 10 มม. (หรือ 10 ช่องเล็ก) ในทางกลับกัน ถ้ากระดาษวิ่งด้วยความเร็วเพียงแค่ 12.5 mm/sec จะทำให้ตัว calibrator แคบลงเหลือแค่ 2.5 มม. (หรือ 2.5 ช่องเล็ก) นั่นเอง

                ส่วนความสูงของ calibrator จะสูง 1 mV เสมอ เพื่อให้เปรียบเทียบขนาดของ wave ในคลื่นไฟฟ้าหัวใจว่าเป็นอย่างไร โดยปกติแล้ว 10 มม.จะเท่ากับ 1 mV (สูง 10 ช่องเล็ก) แต่ในบางรายที่ขนาดของ wave (โดยเฉพาะ QRS complex)  สูงมาก อาจจะเลยกระดาษ ECG ได้ เลยทำให้เครื่องต้องทำการลดขนาดของ wave ลงเพื่อให้วิเคราะห์ถึงความสูงได้อย่างครบถ้วน ซึ่งถ้าลด scale ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 5 mm/mV แสดงว่าเป็นการลดขนาด wave ลงครึ่งหนึ่ง เวลาวิเคราะห์จำเป็นต้องคิดว่าขนาด wave จริงจะสูงกว่านี้ 2 เท่า ในทางกลับกัน ถ้าหาก wave เล็กๆ มองไม่ชัด (อย่างเช่น p wave)  ถ้าขยายขนาด wave เป็น 2 เท่า (20 mm/mV) ก็จะทำให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น แต่ wave อื่นๆ ก็จะมีการขยายขนาดขึ้นด้วย จึงจำเป็นต้องแปลให้กลับมาอยู่ในสเกลปกติก่อนทุกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น